ความหมายของการบัญชี(Book Keeping )


การบัญชี (Accountancy หรือ Accounting) เป็นศิลปะของการบันทึกรายการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับ – จ่ายเงิน สิ่งของและสิทธิที่มีค่าเป็นเงินไว้ในสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอเป็นระเบียบถูกต้องตามหลักการและสามารถแสดงผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของกิจการในขณะเวลาหนึ่งๆได้

ความหมายของการทำบัญชี (Book Keeping )

การทำบัญชี (Book Keeping) หมายถึง การจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับ - จ่ายเงิน หรือสิ่งของที่กำหนดมูลค่าเป็นเงินไว้เป็นหลักฐานไว้ในสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จัดแยกประเภทต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบถูกต้องตามหลักการ และแสดงผลการดำเนินงาน และฐานะการเงินของกิจการในระยะเวลาหนึ่งได้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน ตลอดจนการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานนั้น ซึ่งการบัญชีนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการบัญชี (Accounting) พื้นฐานของการบัญชีทั้งหมดมาจากสมการว่า "สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน" ส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายถือเป็นส่วนหนึ่งของทุน

ประวัติและความเป็นมาของการบัญชี

การบัญชี แบ่งออกเป็น 3 ยุค ตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงดังนี้
1. ยุคก่อนระบบบัญชีคู่ เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 3000 ปี จนถึงศตวรรษที่ 13 มีการจดบันทึกข้อมูลทางบัญชี เนื่องจากการลงทุนในการค้า สภาพเศรษฐกิจและการเมืองจากระบบการแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบการซื้อขาย และมีการพัฒนาทางเทคโนโลยี การจัดบันทึกข้อมูลทางบัญชีในยุคนี้ได้จดบันทึกไว้บนแผ่นขี้ผึ้ง
2. ยุคระบบบัญชีคู่ (Double Entry Book - keeping) ในปลายศตวรรษที่ 13 ในยุคนี้มีการลงทุนทางการค้าในรูปของการค้าร่วม หรือห้างหุ้นส่วน เริ่มมีการก่อตั้งธนาคารมีเรือใบในการขนส่งสินค้า และมีการพิมพ์หนังสือลงในกระดาษ ค.ศ. 1202 ได้ค้นพบการจัดบันทึกบัญชีตามหลักบัญชีคู่ทีสมบูรณ์ชุดแรก ที่เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1340 ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้า ต่อมาในศตวรรษที่ 15 อิตาลีเริ่มเสื่อมอำนาจลงศูนย์การค้าได้เปลี่ยนไปยังประเทศในยุโรป เช่น สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์การบันทึกข้อมูลทางบัญชีในยุคนี้ได้มีการหาผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นงวดบัญชี
3. ยุคปัจจุบันในศตวรรษที่ 20 มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ความต้องการทางบัญชีมีมากขึ้น และวัตถุประสงค์ของข้อมูลทางบัญชีเปลี่ยนไปจากเดิมผู้บริหารเป็นผู้ใช้ข้อมูลมาเป็นผู้ลงทุนเจ้าหนี้ และรัฐบาลเป็นผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชีสำหรับประเทศไทยการบัญชีเริ่มต้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอันนำไปสู่การออกประมวลรัชฎากรจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบุญชี พ.ศ.2482 โดยผู้ที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการบัญชีในระยะแรก ได้แก่ พระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ)และหลวงดำริอิศรานุวรรค(ม.ล.ดำริ อิศรางกูร ณ อยุธยา)ได้จัดทำหลักสูตรการสอนวิชาบัญชีเพื่อเผยแพร่ทำให้คนไทยมีความรู้ทางด้านการบัญชี

การบัญชีมีจุดประสงค์ดังนี้


1. เพื่อจดบันทึกรายการค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นโยเรียงลำดับก่อนหลังและจำแนกประเภทของรายการค้าไว้อย่างสมบูรณ์
2. เพื่อให้การจดบันทึกรายการค้านั้นถูกต้อง เป็นตามหลักการบัญชีและตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
3. เพื่อแสดงผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาหนึ่ง และแสดงฐานะการเงินของกิจการในระยะเวลาหนึ่ง
4. เพื่อเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางการค้า
5. เพื่อให้เจ้าของกิจการได้ทราบว่าช่วงเวลานั้น ๆ มีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ อยู่เป็นจำนวนเท่าใดและอย่างไร
6. เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของนักธุรกิจและประกอบการตัดสินใจในการบริหารของเจ้าของกิจการ
7. เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตและการสูญหายของสินทรัพย์

ประโยชน์ของการบัญชี

1. ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถ ควบคุมดูแล รักษาสินทรัพย์ของกิจการได้
2. ช่วยให้ทราบผลการดำเนินงานของกิจการ ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งว่ามีผลกำไรหรือขาดทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใด
3. ช่วยให้ทราบฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ว่ามีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของเป็นจำนวนเงินเท่าใด
4. ข้อมูลทางการบัญชีเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร ช่วยในการกำหนดนโยบายในการวางแผนและช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ ในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ข้อมูลทางบัญชีที่จดบันทึกไว้ สามารถช่วยในการตรวจสอบหาข้อผิดพลาด ในการดำเนินงานได้

การบัญชีเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญ ดังนี้

การจดบันทึก (Recording) รายการค้าที่เกิดขึ้นเรียงตามลำดับเหตุการณ์ลงในสมุดบันทึกรายการขั้นต้นในรูปของหน่วยเงินตรา
การจำแนก (Classifying) ข้อมูลที่บันทึกไว้ออกเป็นหมวดบัญชีแต่ละประเภทในสมุดบันทึกรายการขั้นปลาย โดยแยกเป็นหมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย
การสรุปผล (Summarizing) ยอดคงเหลือของแต่ละบัญชีที่บันทึกในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา
การจัดทำรายงานทางการเงินในรูปของงบการเงิน (Financial Statement) ซึ่งถือเป็นผลงานของการบัญชี ตลอดจนการแปลความหมาย (Interpreting) ผลงานของการบัญชี เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลหลายฝ่ายตามความต้องการ เช่น ผู้ลงทุนต้องการข้อมูลทางบัญชีเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นต้น